Friday, January 16, 2015

แนะแนวข้ามทวีป : "so-called flight attendant" ตอนที่ 1 How?

***Rules&regulations ในการอ่าน "so-called flight attendant"***

1. เรื่องราวทั้งหมดที่เกิด เป็นประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่อยู่ในอาชีพแอร์โฮสเตสมาเป็นระยะเวลา8ปี ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาโจมตีหรือพาดพิงผู้ใดทั้งสิ้น หากแต่เป็นการเขียนเพื่อเป็นวิทยาทานให้รุ่นน้องที่อยากเป็นแอร์โฮสเตส และเพื่อเพื่อนๆผู้รักการอ่านเพื่อความบันเทิงเท่านั้น

2. เนื้อหาและเนื้อเรื่องบางส่วนในบางตอน ไม่สามารถนำไปใช้ได้กับสายการบินอื่นๆในเหตุการณ์เดียวกัน การนำเอาเรื่องราวของผู้เขียนไปเปรียบเทียบ หรือยึดถือเป็นหลักโดยรวมว่าด้วยเรื่องของชีวิตการเป็นแอร์โฮสเตส อาจทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจที่ผิดต่อการเป็นแอร์โฮสเตสในภาพรวมได้

3. กรุณาใช้วิจารณญาณขั้นสูงสุดในการอ่าน เนื่องจากเรื่องราวของผู้เขียนนั้น เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตการทำงานและอยู่อาศัยในประเทศแถบตะวันออกกลางเท่านั้น การจัดการและการบริหารของสายการบินต่างๆในแถบนี้ รวมถึงสายการบินที่เบสในประเทศไทยนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพื่อนร่วมงาน ผู้โดยสาร เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม การเลี้ยงดูในวัยเด็ก จิตสำนึก ความคิด ทำให้ความสามารถในการมองโลก การแก้ปัญหา การแยกแยะผิดชอบชั่วดี มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ผู้อ่านจึงไม่ควรตัดสินชีวิตใคร แต่ควรพึงเข้าใจ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไป ล้วนแล้วแต่เป็น "กรรม" ของแต่ละบุคคลเท่านั้น

................................................................

แนะแนวข้ามทวีป : "so-called flight attendant" ตอนที่ 1 How?

Welcome everybody to ประเด็นสำคัญของการเปิดคอลั่ม "แนะแนวข้ามทวีป" คอลั่มแนะแนวรุ่นน้องๆที่ยังอยู่ในวัยเรียน โดยเฉพาะน้องๆโรงเรียนราชีนีบูรณะ จังหวัดนครปฐม และน้องๆวัยเรียนทุกคนที่หลงเข้ามาอ่านมหากาพย์ที่ดูเหมือนจะไร้สาระของพี่ แนะแนวข้ามทวีป : "so-called flight attendant" จะออกมาเป็นตอนๆแบบละเอียดทุดเม็ด แต่แฝงไปด้วยเกร็ดความรู้ดีๆสำหรับน้องๆ และแบบขบขันเอาฮาสำหรับเพื่อนๆผู้รักการอ่านเพื่อความบันเทิงทั้งหลาย

อันดับแรก มาคุยกันก่อนมา เขียน "so-called flight attendant" นี่ ไม่ง่ายนะ วางพลอทที่จะเขียนไว้หมดแล้วตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว คำพูดในหัวมีเยอะแยะที่อยากเล่าอยากแชร์ แต่ด้วยเนื้องานที่ค่อนข้างเครียดและไม่แน่นอน บวกกับความที่เป็นคนตรงและจริงจังกับชีวิตมากไปหน่อย จะเขียนบทความอะไรออกมาทีเลยต้องรอให้องค์ลง หรือที่เค้าเรียกกันว่า "ติสต์แตก" นั่นเอง ฮาาาาาาาาาาา ไม่หรอก เอากันจริงๆคือถ้าช่วงชีวิตตอนนั้นมี negative energy รอบตัวมากไป เขียนอะไรออกมามันก็จะเป็น negative ไปด้วย การส่ง negative energy ต่อไปให้คนอื่น จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ถูกมั๊ย เพราะฉะนั้น การรอจังหวะดีๆให้มันมี positive energy แบบวันนี้จะดีกว่า

ทำไมถึงต้องเขียน Rules&regulations ในการอ่านบทความ "so-called flight attendant" ขึ้นมา? อย่างที่บอกไว้ในข้อ 1, 2, และ 3 ชัดนะ (ไม่ชัด ช่วยขึ้นไปอ่านใหม่ อ่านดีๆ อ่านหลายๆรอบ) อยากให้เข้าใจตรงกันตามนี้ ปัญหาจะได้ไม่ตามมาทีหลัง ดักเอาไว้ให้หมดทุกทาง ที่ดีเลย์คอลั่มตอนนี้เอาไว้จนถึงตอนนี้ ก็เป็นเพราะเรื่องที่จะเขียนเป็นตอนๆนี้แหละ มันสองแง่สองง่าม กระทบคนหลายกลุ่มหลายองค์กร แต่ทุกเรื่องราว มันเป็นประโยชน์แก่รุ่นน้องๆที่คิดอยากเป็นแอร์โฮสเตสแน่นอน อย่างที่บอกว่าพี่คงไม่สามารถไปพูดแนะแนวกับพวกเราได้ที่โรงเรียนอย่างที่อาจารย์เกรียงไกรเคยเปรยๆไว้ ถึงพี่ได้ไป แต่เวลาที่มีอาจจะน้อย เรื่องที่พี่จะพูดจะเล่าจะแชร์มันเยอะเกิน เอาแบบนี้ดีกว่า เน้นๆเนื้อๆ มหากาพย์ "so-called flight attendant" ติดตามกันไปเป็นตอนๆ นะน้องนะ

มาเข้าเรื่องกัน "so-called flight attendant" ตอนที่ 1 How?

How? คือ มาเป็นแอร์ได้ไง? ต้องทำยังไง? เอาตรงๆมั๊ย พี่ฟันธงเน้นๆ ประเด็น 2 ข้อที่ทำให้คนเป็นแอร์ได้

1. ดวง
2. การเตรียมตัว

ชัดๆ ตามนั้น  ... ไอ้ดวงเนี่ยนะ มันคือดวงจริงๆนะ พวกสมัครทุกสายการบินแต่ไม่เคยได้ กับพวกที่สมัครสายการบินครั้งแรกครั้งเดียวแล้วได้เลย ประมาณนี้ มันคือ "ดวง" ไม่เชื่อก็ต้องไม่หลบหลู่ของเค้าหล่ะ

ใครไม่มีดวงอย่างที่เค้าว่ากัน ไม่ได้หมายความว่าหมดสิทธิ์นะ "การเตรียมตัว" เพื่อการสมัครแอร์นี่สำคัญไม่แพ้ดวงนะ ขอบอกกกกกกก เตรียมตัวยังไง? อย่างแรกที่น้องต้องมี คือความสามารถทางด้านภาษา ภาษาแรกที่ต้องพูดได้ สื่อสารได้ คือภาษาอังกฤษ เน้นว่า พูดได้สื่อสารได้ ไม่ได้หมายความว่าต้องพูดเหมือนคนอ่านข่าวCNN หรือ BBCไรพวกนี้ นั่นมัน Native Speaker แล้วน้อง คำว่าพูดได้สื่อสารได้ คือสามารถพูดกับอีกฝ่ายให้เข้าใจตรงกันว่าต้องการอะไร แบบไหน ยังไง เอาแค่นั้นจริงๆ ใครได้ภาษาที่3 ถือเป็นกำไรของตัวเราและของสายการบิน

ท้าวความสมัยพี่สมัครแอร์วั้นนั้น อีก5เดือนจะอายุ 30 จำแม่น เป็นคนสุดท้ายที่เดินเข้าห้องประชุม ต่อแถวยาว พี่ยืนคนสุดท้ายตรงประตู แล้วกรรมการเดินมาปิดประตูเลย เค้าปิดรับสมัครบ่าย3 พี่เดินเข้าไปตอนบ่าย3เป๊ะ ยืนรอกันนานมากกว่าจะได้นั่ง พี่ไปคนเดียว ไม่รู้จักใครเลย ไปแบบมัดผมจุกธรรมดา หน้าไม่แต่ง แต่งไม่เป็น เล็บไม่ได้ทา ใส่ชุดสูทเดินบนส้นสูงได้โดยไม่ล้มก็บุญของพี่แล้ว ด้วยความที่นั่งรอกันนาน พวกที่มาสมัครแอร์นั่งข้างๆกันแถวใกล้ๆกันเลยต้องคุยกันเอง มีน้องคนนึง ต้องบอกว่าเซียน เพราะว่าเค้าสมัครแอร์มาหลายรอบหลายสายการบินมาก แต่ไม่ได้ซักที แต่แปลกตรงที่น้องคนนี้ มีความสามารถมองออกแล้วรู้ได้ว่า ใครได้ไม่ได้แอร์ในรอบสัมภาษณ์นั้นๆ น้องคนนี้หันมาทางพี่แล้วพูดว่า "เจ๊ เจ๊ได้แน่นอน เชื่อหนู" โอ้ว เอางั้นเลยนะน้อง น้องมองพี่แต่หัวจรดเท้า แล้วบอกว่าพี่ได้แน่นอนเนี่ยนะ!? สรุปน้องๆและอีกหลายคนมองมาแล้วออกอาการสงสาร เพ่ๆมาสมัครแอร์ ไม่เตรียมตัวไรเลยเรอเพ่ ผมไม่ทำหน้าไม่แต่งเล็บไม่ทา มานี่มาเพ่ หนูจัด ว่าแล้วก็ช่วยกันแต่งให้มันดูดีขึ้นนี่แหละ พอถึงรอบสัมภาษณ์ ผ่านเข้ารอบต่อไปจริงๆ

สมัยนี้ ใครไปสมัครแอร์แบบพี่ โอกาสผ่านเข้ารอบอาจเหลือศูนย์นะน้อง "Grooming" แปลเป็นไทยคือการดูแลการแต่งกายเผ้าผมให้เรียบร้อย คือต้องดูเนี๊ยบ และ neat นั่นเอง แล้วคำว่า "grooming" นี่นะ จะอยู่กับน้องไปตลอดชีวิตการเป็นแอร์โฮสเตสกันเลยทีเดียวเชียว พวกติสต์จัดๆ สไตล์ฮิพฮอพแร๊บโย่อะไรเทือกนี้ ถ้าคิดจะมาเป็นแอร์ ช่วยแยกแยะนิดส์นึง งานกับชีวิตส่วนตัว คนละเรื่อง จะไปสมัครแอร์ต้องเนี๊ยบ เป็นแอร์แล้วอยู่ในยูนิฟอรม์ต้องเนี๊ยบ สมัครแอร์เสร็จแล้วหรือกลับมาจากบินแล้วจะไปแร๊บโย่ที่ไหนยังไงอีกเรื่องนึง โอเคนะ

การเตรียมตัวอีกแบบหนึ่งที่ดูท่าแล้วบูมมากและอาจให้ผลที่ดีมาก คือ การไปเข้าคอรส์เรียนการเป็นแอร์ แนะนำว่าให้น้องหาข้อมูลดีๆเรื่องสถาบันที่จะไปเข้าเรียน เพราะค่าใช้จ่ายเท่าที่พี่รู้มาคือเป็นแสน ใช่ เป็นแสนเลย แต่ถ้าน้องได้เป็นแอร์ขึ้นมาจริงๆ เงินแสนที่ว่า บินแค่เดือนเดียว (ระดับฐานเงินเดือนนี้ คือของแอร์ที่เบสในประเทศแถบตะวันออกกลางบางสายการบินเท่านั้น) หรือ2เดือนแรก น้องก็ได้มันคืนมาแล้ว  แต่พี่ขอเตือนนะ หาข้อมูลดีๆ ก่อนจะคิดไปเข้าเรียนสถาบันต่างๆที่ว่ามา เน้นอีกรอบว่า "หาข้อมูลดีๆ"

สำหรับคนที่มุ่งมั่นจะเป็นแอร์โฮสเตส การศึกษาข้อมูลเบื้องต้นนั้นสำคัญมาก อยากเป็นแอร์ ก็ต้องเข้าสู่โลกข้อมูลของการเป็นแอร์ ถูกมั๊ย เพราะฉะนั้น ใครเล่นเฟซบุค กดไลค์โลด (ใครกดลิงค์แล้วไม่ไป ให้พิมพ์คำว่า Thaicabincrew Community ในช่องsearchในหน้าเฟซบุคของตัวเอง แล้วจะเจอเอง) 
 Thaicabincrew Community เป็นเวบเพจของเวบไซด์ http://www.thaicabincrew.com นี่คือแหล่งรวมทุกอย่างของคนที่อยากเป็นแอร์ และที่เป็นแอร์แล้ว เป็นเวบไซด์แรกที่จัดทำขึ้นมาเมื่อสมัยนานมากๆ แอดมินเป็นพี่สจ๊วตการบินไทยผู้คร่ำหวอดในวงการแอร์มานาน ข้อมูลที่อยู่ในนี้ทั้งหมด ใครที่อ่านได้หมด ถือเป็นกำไร และเป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้น้องได้งานแอร์ พี่ขอฟันธง อ่านให้หมดทั้งเวบไซด์ ทุกคอลั่ม ทุกการสัมภาษณ์ ทุกการแชร์ประสบการณ์จากการสัมภาษณ์ของทุกสายการบิน น้องจำเป็นต้องอ่านถ้าอยากเป็นแอร์  ยังมีเวบเพจของพี่ๆแอร์โฮสเตสอีกหลายสายการบินที่ทำออกมาช่วยน้องๆที่อยากเป็นแอร์ พี่ๆบางคนมีชื่อเสียงแล้ว ช่วยน้องๆไปหลายคนแล้ว เวบเพจของพี่ๆพวกนี้ น้องจะเจอเองในเวบเพจหลักในเฟซบุคของ Thaicabincrew-community

อย่างที่บอกว่า "so-called flight attendant" จะเป็นมหากาพย์บทความหลายตอนมาก นี่คือเนื้อหาทั้งหมดที่อยากพูดอยากบอกในตอนแรก ตอนที่ 1 How? อ่ะ เอาไปเบาๆก่อนนะ เดี๋ยวมาเจอกันตอนหน้า อีกไม่เกิน 3 วัน กับ แนะแนวข้ามทวีป : "so-called flight attendant" ตอนที่ 2 How come? 


>>> แนะแนวข้ามทวีป : "so-called flight attendant" ตอนที่ 2 How come? <<< 






............................................................................................................................


>>> แนะแนวข้ามทวีป : Introduction <<<
>>> แนะแนวข้ามทวีป : High School Love On <<<
>>> แนะแนวข้ามทวีป : Better Planet VS. Better Kids <<<
>>> แนะแนวข้ามทวีป : What's next? <<<

No comments: