***Rules®ulations ในการอ่าน "so-called flight attendant"***
1. เรื่องราวทั้งหมดที่เกิด เป็นประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่อยู่ในอาชีพแอร์โฮสเตสมาเป็นระยะเวลา8ปี ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาโจมตีหรือพาดพิงผู้ใดทั้งสิ้น หากแต่เป็นการเขียนเพื่อเป็นวิทยาทานให้รุ่นน้องที่อยากเป็นแอร์โฮสเตส และเพื่อเพื่อนๆผู้รักการอ่านเพื่อความบันเทิงเท่านั้น
2. เนื้อหาและเนื้อเรื่องบางส่วนในบางตอน ไม่สามารถนำไปใช้ได้กับสายการบินอื่นๆในเหตุการณ์เดียวกัน การนำเอาเรื่องราวของผู้เขียนไปเปรียบเทียบ หรือยึดถือเป็นหลักโดยรวมว่าด้วยเรื่องของชีวิตการเป็นแอร์โฮสเตส อาจทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจที่ผิดต่อการเป็นแอร์โฮสเตสในภาพรวมได้
3. กรุณาใช้วิจารณญาณขั้นสูงสุดในการอ่าน เนื่องจากเรื่องราวของผู้เขียนนั้น เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตการทำงานและอยู่อาศัยในประเทศแถบตะวันออกกลางเท่านั้น การจัดการและการบริหารของสายการบินต่างๆในแถบนี้ รวมถึงสายการบินที่เบสในประเทศไทยนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพื่อนร่วมงาน ผู้โดยสาร เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม การเลี้ยงดูในวัยเด็ก จิตสำนึก ความคิด ทำให้ความสามารถในการมองโลก การแก้ปัญหา การแยกแยะผิดชอบชั่วดี มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ผู้อ่านจึงไม่ควรตัดสินชีวิตใคร แต่ควรพึงเข้าใจ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไป ล้วนแล้วแต่เป็น "กรรม" ของแต่ละบุคคลเท่านั้น
................................................................
แนะแนวข้ามทวีป : "so-called flight attendant" ตอนที่ 8 A war zone
ใครที่ชอบติดตามข่าวสารต่างประเทศอยู่บ่อยๆ อาจจะพอรู้มาบ้างแล้วว่าช่วงหลายปีมานี่ ประเทศแถบตะวันออกกลางมีทั้งสงครามกลางเมือง ระหว่างเมือง กระจายกันเป็นวงกว้างจนเกือบจะทั่ว Middle East แล้ว และล่าสุดกับสงครามระหว่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่องของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการร้ายน้องใหม่มาแรงแซงโค้งพวกรุ่นพี่ๆทั้งหลาย เป็นกลุ่มที่ถือได้ว่าโลกต้องจับตามองกันเลย เพราะน้องใหม่กลุ่มนี้เน้นจุดขายที่การปลิดชีวิตคนทิ้งแบบไร้ซึ่งความรู้สึกใดๆเฉกเช่นที่มนุษย์โลกควรจะเป็น หรือภาษาพื้นบ้านว่า "ไม่ใช่คน" นั่นเอง ไม่ใช่คนแล้วเป็นอะไร!? ตอบได้แบบลิงๆว่าเป็นการใช้ชีวิตตามหลักจิตวิทยาขั้นสูงสุด โดยการยินยอมให้ Devil เข้าครอบงำทุกสิ่งในตัวเอง จบข่าว
เอ่ออออ...อ แต่ "so-called flight attendant" ตอนที่ 8 A war zone ของพี่นี่ ไม่ได้เกี่ยวไรกับสงครามของประเทศแขกๆนี่เลยซักนิดส์ A War Zone ในที่นี้คือสงครามระหว่าง Mental กับ Physical ของตัวเราเองเวลาเราไปบินในวันๆนึงต่างหาก ออกแนว "challenge" นิดๆ ประเด็นคือหากเราจัดการชีวิตการบินของเราได้ไม่ดี ตรงนี้แหละที่จะนำไปสู่ A War Zone ภายในร่างกายของเราอย่างแท้จริง
ชีวิตของคนปกติธรรมดาทั่วไป การกินการนอนเป็นไปตามธรรมชาติถูกมั๊ย ในที่นี้คือตื่นมาตอนเช้า กินข้าวเช้า ออกไปทำงาน พักกินข้าวเที่ยง เลิกงานกลับบ้าน กินข้าวเย็นแล้วก็เข้านอน ใครทำงานเป็นกะ กะเช้ากะบ่ายกะกลางคืน ก็มีรูปแบบการใช้ชีวิตโดยเฉพาะการกินการนอนที่แตกต่างกันเล็กน้อย แต่สิ่งเดียวที่เหมือนกันคือการทำงานอยู่บนภาคพื้นดินที่อุณหภูมิปกติ ระดับความดันในร่างกายปกติ แต่งานแอร์เนี่ย ทุกอย่าง "upside down" นะน้อง
มาเริ่มกันที่ด้าน Physical กันก่อนเลย ทั้งการกินการนอน เวลาปกติที่คนธรรมดาเค้านอนกัน พวกพี่ไปบิน เวลาเค้าตื่นกัน พวกพี่เพิ่งจะได้นอน ยกตัวอย่างตารางบินที่ต้องไปค้าง 1 คืนเป็นอย่างต่ำตามประเทศต่างๆ เรียกกันว่า "night stop" หรือ "lay over" (บางสายการบินอาจมีคำเรียกแบบอื่น) ไฟลท์ที่ออกจากเบสตอนเย็นๆหรือตอนกลางคืน แล้วกลับมาอีกทีตอนเช้าหรือใกล้เที่ยงของวันถัดไป ไฟลท์พวกนี้เรียกกันว่า "night flight turn around" ไฟลท์ทั้ง 2 แบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นไฟลท์ที่ออกจากเบสตอนเย็นๆหรือตอนกลางคืน แล้วต้องบินกันข้ามคืน Flying time ก็ว่ากันไป มีตั้งแต่ 30 นาที ไปยัน 9-10 ชั่วโมง บางสายการบินไปไกลหน่อย อาจะถึง 15 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ก่อนจะไปบินไฟลท์พวกนี้ก็ต้องนอนพักเอาแรงก่อนบินถูกมั๊ย ใครที่นอนได้ตลอดเวลา ประเภทอยู่ที่ไหนเมื่อไหร่ก็นอนได้ คือหลับสั่งได้ว่างั้น แบบนี้คือโชคดีมากกกก ถ้ามาเป็นแอร์ก็จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการนอนซักเท่าไหร่ แต่ถ้าใครที่มีปัญหาในการนอน นอนยากนอนเย็น นอนได้เฉพาะเวลากลางคืนแล้วตื่นตอนเช้าแบบที่คนธรรมดาเค้าเป็นกัน แบบนี้อาจจะมีปัญหานิดหน่อย เพราะน้องจะจัดเวลานอนยังไงหล่ะ ตื่นมาตอนเช้า 7 โมง แต่ 6 โมงเย็นวันนั้นรถจะมารับน้องไปบินแล้ว กลับมาจากบินอีกทีเร็วสุดคือ 6 โมงเช้าของวันถัดไป กว่าจะถึงที่พักอย่างต่ำก็ 7 โมงครึ่งโดยประมาณ สรุปแล้วคือน้องจะต้อง stay awake หรืออดหลับอดนอนรวมแล้วอย่างต่ำคือ 24 ชั่วโมง เทียบกับเวลาของคนปกติธรรมดาที่ีจะ stay awake เป็นเวลา 16 ชั่วโมงใน 1 วัน จะทำงานหรือจะเรียนหนังสือก็แล้วแต่ ที่เหลือ 8 ชั่วโมงคือการนอนหลับพักผ่อน รวมแล้วเป็น 24 ชั่วโมงถูกมั๊ย
และด้วยความบ้าระห่ำของตารางบินในบางเดือนของบางสายการบิน น้องอาจจะต้องบินกระหน่ำซัมเม้อเซล ถึงขนาดต้องมานั่งคิดกันเลยว่านี่พวกเราเป็นคนหรือเป็นแวมไพร์ เพราะน้องอาจจะเจอ "night flight turn around" แบบ 3 คืนติดกันเลย ตอนกลางคืนออกหากิน เอ้ย ออกไปบิน เช้าพระอาทิตย์ขึ้นถึงกลับมานอนทั้งวัน ตกกลางคืนไปบินใหม่ ชีวิต repeat อยู่อย่างนี้ 3 คืนติด แบบนี้ไหวมั๊ย!? ยังไม่จบ เมื่อพ้นคืนที่ 3 ไปแล้ว เช้าตรู่วันถัดไป น้องจะต้องไปบินไฟลท์เช้าที่ต้องตื่นแบบเช้ามากกกกกก คำถามของพี่คือ น้องจะจัดการนอนยังไงให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนเพียงพอโดยที่ไม่ป่วยเลย นี่คือ "Physical Challenge" อย่างหนึ่งของงานแอร์
เวลาพวกพี่ทำงานอยู่ที่ระดับความสูง 30,000 feet and above ร่างกายคนเราก็ต้องมีการปรับความดัน คือสาเหตุที่ว่าทำไมพวกเราถึงมีอาการตัวบวม มือบวมเท้าบวมเมื่ออยู่บนไฟลท์ สังเกตุถุงขนมพวกมันฝรั่งทั้งหลายเวลาอยู่ที่ความสูงระดับนั้น ถุงจะบวมเป่ง พวกลูกเรือบางทีไม่มีอะไรเล่นก็จะเอาเข็มกลัดป้ายชื่อตัวเองมาเจาะเล่นซะ สะใจ แล้วคิดดูคนเราตัวบวมๆจะเอาเข็มมาเจาะระบายความดันได้เร๊อะ!? คนเป็นผู้โดยสารหน่ะอาจจะไม่ได้บินทุกวัน ตัวเลยไม่ได้บวมๆแฟ่บๆเหมือนลูกเรือหรอก
พูดถึงความดันของร่างกายคนเราเวลาอยู่ในไฟลท์ พี่มีเกร็ดความรู้เล็กๆที่อยากจะแชร์นิดหน่อยสำหรับคนที่อยากเป็นแอร์ เวลาเราไปบินแต่ละครั้ง พอเครื่องลงแตะถึงพื้นแล้ว พอกลับมาถึงที่พักหรือโรงแรม ต้องรอกี่ชั่วโมงถึงจะอาบน้ำได้ ใครรู้บ้าง? พี่เคยถามกัปตันหลายคน หัวหน้าลูกเรือที่ซีเนียร์มากๆบินมา20กว่าปีก็หลายคน แต่คำตอบที่ได้ไม่เหมือนกันเลย บ้างว่าต้องรออย่างต่ำ 2 ชั่วโมงถึงจะอาบน้ำได้ บ้างก็ว่า 4 ชั่วโมง บ้างก็ว่า 6 ชั่วโมง มีทุกตัวเลขเลย ทำไมถึงอาบน้ำไม่ได้เลยทันทีหลังจากกลับจากบินแล้ว!? ผู้โดยสารธรรมดาทั่วไปไม่ได้บินทุกวัน แบบนั้นไม่เป็นไร พี่พูดถึงแอร์ที่ต้องบินขึ้นลงทุกวัน แบบข้ามวันข้ามคืน ความดันในร่างกายผันผวนเสียยิ่งกว่าหุ้นขึ้นลงอีก การอาบน้ำเลยทันทีอาจมีผลกระทบบางอย่างต่อเส้นเลือดได้ นานๆทำทีไม่เป็นไร แต่ถ้าเล่นทำทุกครั้งที่กลับมาจากบินนี่คือไม่เวิคแน่นอน ดูได้เลยเส้นเลือดฝอยที่น่องขา เป็นสัญญาณบอกอะไรบางอย่าง
นอกจากเรื่องอาบน้ำแล้วก็ยังมีอีก 2 เรื่องที่ควรรู้ไว้ใช่ว่า ใครเป็นแอร์ที่บินไปพักใหญ่จนถึงบินมานานแล้วจะรู้ดี สังเกตุดีๆทำไมผมร่วง ผมเริ่มน้อยลง ใครมาบ่นเรื่องผมน้อยกับพี่นี่พี่ยิงคำถามกลับไปทุกคน ว่าลงจากไฟลท์แล้วถึงบ้านอาบน้ำสระผมเลยรึเปล่า มากกว่า 90% ตอบกลับมาเลยว่า "ใช่" แถมบ่นมาด้วยว่า ไม่อาบน้ำสระผมได้ยังไง เพราะไฟลท์บางไฟลท์นี่โอ้ววววววว ทั้งกลิ่นทั้งแบคทีเรีย เชื้อโรคต่างๆ มันไม่ได้อ่ะ ต้องอาบต้องสระ นั่นแหละประเด็น ใครที่ชอบสระผมทันทีหลังจากกลับจากบินแล้วนี่ ผมร่วงแน่นอน สาเหตุก็ไม่พ้นเรื่องความดันในร่างกายที่ยังปรับไม่ทัน กับคุณภาพน้ำที่ใช้สระผม(เน้นว่าเฉพาะเบสแถบตะวันออกกลาง เพราะมันคือน้ำทะเลดีๆนี่เอง) ต้องเลือกเอานะ ถ้ารอไม่ได้ ก็ให้ทำความสะอาดในส่วนที่ควรต้องทำ อย่างล้างมือล้างหน้าล้างเท้าล้างจุดสำคัญ แปรงฟันแล้วไปนอนซะ ตื่นมาแล้วค่อยสระ เห็นแน่นอนความแตกต่าง ส่วนคนที่แพ้น้ำมากๆ จะซื้อน้ำกินเอาไว้เป็นขวดๆเอาไว้ล้างผมเป็นน้ำสุดท้ายหลังสระผมเสร็จ ไล่พวกเกลือพวกอะไรต่างๆในน้ำที่เราแพ้หน่ะ เห็นว่าได้ผลดีอยู่นะ อีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่าใครๆก็รู้ ว่า ถ้าลงจากไฟลท์แล้วจะไปดำน้ำเลยไม่ได้ อันนี้อันตรายถึงชีวิตนะ เพราะเรื่องความดันอีกเหมือนกัน จากสูงสุดบนฟ้าดำดิ่งลงไปจุดต่ำสุดของน้ำทะเล ไม่ไหวมั๊ง ใครชอบหาความรู้เพิ่มเติมเรื่องพวกนี้ แนะนำให้ถามอากู๋รู้ทุกเรื่อง Google นั่นเอง
พี่จำไม่ได้แล้วว่าไปอ่านข้อมูลนี้มาจากไหน แต่มีข้อมูลออกมาว่า ในต่างประเทศอย่างอเมริกา(ถ้าจำไม่ผิดนะ) คนที่เป็นแอร์มาแล้วมากกว่า 4 ปี ไม่สามารถเป็นพยานในชั้นศาลได้ เหตุเพราะคนเป็นแอร์ที่บินมามากกว่า 4 ปี มีชีวิตแบบ repeated routine คือบินขึ้นลงซ้ำๆ อาจจะหลงลืมว่า เหตุการณ์นั้น เกิดขึ้นวันไหนเวลาไหนกันแน่ เพราะทุกวันคือเหมือนกันนั่นเอง ความจำเรื่องเวลาและวันที่อาจจะสับสนได้ นี่คือเฉพาะการเป็นพยานในชั้นศาลเท่านั้นนะ ที่ต้องใช้ข้อมูลแม่นยำในการตัดสินความผิดถูกของคดี ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการใช้ชีวิตปกติธรรมดาของการเป็นแอร์แต่อย่างใด พี่ไม่แน่ใจกฏหมายเมืองไทย ใครมีเพื่อนเป็นนักกฏหมายก็ลองไปสอบถามกันเองเองก็แล้วกันนะ
Physical Challenge อีกเรื่องคือเรื่องสุขภาพ(Health)ที่สำคัญมากกับชีวิตการเป็นแอร์ ทำไมถึงสำคัญ ก็ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง บิน 3 วัน ป่วย 4 วัน น้องคิดว่าน้องจะบินต่อไปได้นานแค่ไหน หรือถ้าพูดแบบหลักธุรกิจการบินคือ สายการบินจะเก็บน้องไว้ได้นานแค่ไหน? เพราะอย่างที่พี่เคยพูดไว้ในตอนที่แล้ว ว่าบางสายการบินหน่ะ เห็นลูกเรือเป็น "asset" คือเป็นทรัพย์สมบัติล้ำค่าเป็นหน้าเป็นตาของสายการบิน แบบนี้เค้าจะดูแลเราดี ป่วยก็ป่วยไป ไอ รอ ยู ได้ หายเร็วๆนะ แต่กับบางสายการบินที่เห็นลูกเรือเป็นแค่ "number" คือเป็นแค่ตัวเลข ไม่ได้มีค่าอะไร แข็งแรงก็ทำงานไป ป่วยบ่อยไปพอถึงเวลาต่อสัญญาก็อาจจะมีปัญหาได้ คิดจะเข้าสายการบินไหนให้หาข้อมูลดีๆ แต่ไม่ว่าน้องจะเข้าสายการบินไหน น้องได้อย่างเสียอย่างแน่นอน เช่น สายการบินดีดูแลลูกเรือดี เงินดี แต่เพื่อนร่วมงาน กับ environment ในการทำงานไม่ดี หรือสายการบินไม่ดี เงินก็พอได้ แต่เพื่อนร่วมงานกับ environment ในการทำงานดี เลือกเอาเองนะ อยากได้แบบไหน
ถ้าถามพี่นะ บอกได้เลยว่าพอมาขึ้นบินแล้ว ช่วงแรกๆอาจจะฟิต ร่างกายตื่นตัวกับสไตล์การใช้ชีวิตแบบใหม่ จะบินข้ามทวีปข้ามคืนไม่ได้นอน 2 วัน 3 วันติดแบบนี้ชิวๆ บินไฟลท์ข้ามคืนที่อดหลับอดนอนมา พอถึงโรงแรมที่พักก็อาบน้ำเปลี่ยนชุดออกไปซ่าได้เลย ไม่ต้องนอนพักอะไรทั้งนั้น เพราะเวลามีน้อย ต้องใช้สอยอย่างประหยัด แต่ถ้าบินไปนานๆอย่างต่ำ 4 ปี destination เดิมๆ ผู้โดยสารเดิมๆ สารการบินกับการจัดการการบริหารแบบเดิมๆ บวกกับสไตล์การใช้ชีวิตที่ upside down ทั้งเรื่องของอาหารการกิน การพักผ่อน การใช้ชีวิตส่วนตัว พวกนี้อาจมีผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างรุนแรง บินๆป่วยๆให้น่ารำคาญใจ ถามว่าทำยังไงให้ร่างกายแข็งแรงในขณะที่ยังเป็นแอร์อยู่ อันนี้ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน เกิดมาแบบนี้ อยากใช้ชีวิตแบบนี้ อยากใช้ร่างกายแบบนี้ ก็นานาจิตตัง เพราะเวลาจะเป็นตัวบอกเอง ว่าร่างกายที่เราอาศัยอยู่จะไปไหวกับเราหรือไม่ ใครที่คิดว่าจะมาบินขำๆเอาประสบการณ์แค่ปี2ปี ไม่ต้องซีเรียสมากเรื่องสุขภาพ เชิญใช้ชีวิตให้เต็มที่และสุดๆไปเลย แต่ถ้าใครที่คิดจะอยู่นานมากกว่า 4 ปี อันนี้ควรต้องคิดหนักหน่อยมั๊ย เพราะจะมาใช้ชีวิตตามใจฉันแต่ร่างกายรับไม่ไหวอะไรแบบนี้ก็ไม่ได้นะ
มีเพื่อนลูกเรือทั้งคนไทยและต่างชาติมาบ่นให้ฟังเยอะ ป่วย ไม่สบาย บินแล้วเหนื่อย อะไรแบบนี้ ถามว่าใช้ชีวิตยังไง สูบบุหรี่กินเหล้าเที่ยวกลางคืนก่อนมีบินมั๊ย? อาหารการกินจัดการยังไง? ข้าวเช้ากินมั๊ย? น้ำดื่มวันละกี่ขวด? ออกกำลังกายบ้างมั๊ย? รัวเป็นชุด คำตอบที่ได้กลับมาเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยทั้งนั้น ทั้งสูบบุหรี่กินเหล้าเที่ยวกลางคืนกลับมานอนไม่กี่ชั่วโมงแล้วไปบิน ข้าวเช้าไม่กิน ไม่แพลนเรื่องการกินการนอน น้ำไม่ชอบกิน ไม่ชอบออกกำลังกาย เอานะ คิดจะบินกี่ปีนะ 2 - 4 ปี? โอเค "Enjoy your life" แต่ถ้ายังไม่รู้จะบินถึงเมื่อไหร่? อันนี้ให้กลับไปคิดกันเอาเอง เพราะร่างกายของตัวเอง ป่วยเองเจ็บเอง สายการบินไม่ได้แบกรับความเจ็บด้วย ถ้าน้องคิดจะมาเบสไกลบ้านไกลเมือง ไม่มีคนดูแล เพื่อนก็ไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา ก็ต้องรู้จักดูแลตัวเองระดับนึงนะ
มาถึงเรื่องของ Mental Challenge ที่สำคัญไม่แพ้ Physical Challenge เพราะถ้าบินๆไปแล้วจิตหลุด น้องจะทำยังไงกับชีวิตต่อไป? อ่านถูกแล้ว "จิตหลุด" สาเหตุคงไม่พ้นเรื่องการที่น้องต้องเจอคนหลากหลายสายพันธุ์และเชื้อชาติในแต่ละวัน ไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้โดยสารนะ ลูกเรือหรือเพื่อนร่วมงานก็รวมอยู่ด้วย พี่ไม่แน่ใจสายการบินที่เบสไทยทั้งหลาย ดูท่าแล้วส่วนใหญ่จะเจอแต่ผู้โดยสารสติดี พูดจารู้เรื่อง สื่อสารกันได้ ออกแนวศิวิไลซ์(civilized)กว่า พี่ขอไม่ใช้คำว่ามีการศึกษา หรือ educated เพราะเอากันจริงๆทุกคนมีการศึกษาหมดแหละ แต่เพราะบางทีบางครั้ง การศึกษาก็ไม่ได้ช่วยให้ดูดี หากการปฏิบัติตัวในสังคมส่วนรวมนั้นไม่ได้สูงเหมือนการศึกษา คำว่า ศิวิไลซ์ จึงเหมาะสมสุดแล้ว เพราะทุกคนจะรู้หน้าที่ รู้การรู้งาน รู้มารยาทในการเข้าสังคม รู้จักการเคารพผู้อื่น อะไรแบบนี้ แต่ถ้าเบสแถบตะวันออกกลางนี่ น้องอาจจะไม่ค่อยได้เจอผู้โดยสารหรือเพื่อนร่วมงานที่ออกแนวศิวิไลซ์แล้วซักเท่าไหร่ คือที่ดีๆหน่ะพอมีบ้าง แต่ถ้าจะให้เทียบเปอเซนต์แล้ว อาจจะน้อยกว่าสายการบินที่เบสไทยนะบอกไว้เลย
มาดูเคส Mental Challenge ต่อผู้โดยสารกัน หลักๆแล้วปัญหามาจาก Language Barrier กับ Social Manners ของแต่ละบุคคล นี่คือเท่าที่พี่สังเกตุนะ ขอไม่พูดถึงประเด็นยิบย่อยทั้งหลาย เช่น ความต่างของศาสนา ความเชื่อ การเลี้ยงดูในวัยเด็ก สภาพจิตใจ อะไรพวกนี้ Language Barrier คือจะสื่อสารกันยังไงให้เข้าใจตรงกัน จะภาษาไหนก็แล้วแต่ ไม่เว้นแม้แต่ Body Language อะไรก็ได้แต่ขอให้เข้าใจตรงกัน แบบนี้ปัญหาก็จะไม่เกิด Social Manners นี่สำคัญ เพราะถ้าคนเรามีความศิวิไลซ์อยู่ในตัว จะเดินทางไปไหน ไปอยู่ที่ไหน ก็จะรู้จักการปรับตัวให้เข้ากับสังคมส่วนรวมได้โดยที่ไม่สร้างปัญหาแก่คนส่วนใหญ่เลย
Key word ของ Mental Challenge คือ ความอดทน และ ความใจเย็นแบบสุดขั้ว ถ้าน้องเอาทั้ง 2 อย่างนี้ไปบินกับน้องด้วย พี่ขอรับรองว่าชีวิตการบินกับสายการบินแถบตะวันออกกลางของน้องจะเป็นไปแบบเรียบร้อยราบรื่น เชื่อมั๊ย ผู้โดยสารที่น้องจะเจอ ส่วนใหญ่แล้วเป็น "difficult passenger" แทบทั้งนั้น ประเภทลูกเรือพูดหรือบอกอะไร จะไม่ฟังและไม่ทำตาม ยกตัวอย่างการรัดเข็มขัดนิรภัย(seat belt)ทั้งก่อนเครื่องขึ้นและลง, การเก็บกระเป๋าสัมภาระต่างๆ ไม่วางตามทางเดินหรือทางออกฉุกเฉิน, รับทานอะไรดีค๊ะ วันนี้มี เนื้อกับข้าว ไก่กับก๋วยเกี๋ยว และพาสต้ามังสวิรัติค่ะ ... "I want fish!!!", รับเครื่องดื่มอะไรดีค๊ะ โค้ก สไปรท์ ค่ะ น้ำผลไม้ (Juice) เรามีน้ำส้ม กับน้ำแอปเปิ้ล รับน้ำอะไรดีค๊ะ ... "Juice" ~
ตัวอย่างเล็กๆน้อยๆแค่นี้ พี่เอามาเล่าขำๆให้น้องนึกภาพออกเฉยๆ สถานการณ์จริงอาจจะไม่ขำแบบนี่นะบอกไว้ก่อน 2 ตัวอย่างแรกเป็นเรื่องของ Social Manners ที่เกี่ยวกับด้านความปลอดภัยของตัวผู้โดยสารเองรวมถึงผู้โดยสารรอบข้าง เวลาอยู่นอกเครื่องบิน ผู้โดยสารจะไม่รัดเข็มขัดขณะขับรถตัวเอง หรือจะวางสิ่งของเกะกะในบ้านตัวเอง พี่ว่าเป็นเรื่องของความรับผิดชอบในชีวิตและทรัพย์สินส่วนตัวที่ต้องไปจัดการกันเอาเอง แต่เมื่อมาอยู่ในที่ส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน รถโดยสาร รถไฟ การเคารพกฏกติกามารยาทโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัย เป็นเรื่องที่ไม่ว่าที่ไหนๆ ผู้คนควรให้ความเคารพและปฏิบัติตามกันทั้งนั้น นี่คือ "common sense" อย่างหนึ่งที่ civilized people หรือแม้กระทั่ง educated people ควรมี ส่วน 2 ตัวอย่างหลัง เป็นเรื่องของ Language Barrier ที่ผู้โดยสารออกแนว lack of listening skill คือขาดทักษะในการฟัง หรืออาจจะเป็นแนว selective listener คือ ฟัง รู้ แต่จะเอาแบบที่ตัวเองคิด อะไรแบบนี้ก็ทำให้พวกพี่ปวดหัวได้เหมือนกัน เจอแบบนี้ในไฟลท์ซักคน 2 คนไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นกันทั้งลำหรือมากกว่าครึ่งลำ พี่ถามว่าน้องจะจัดการได้มั๊ย? ไม่ใช่จัดการโยนผู้โดยสารออกไปนอกเครื่องนะ พี่หมายถึงจัดการความอดทนและความใจเย็นของตัวเองในการทำงานที่ต้องเจอผู้โดยสารประเภทนี้ต่างหาก
Mental Challenge ต่อลูกเรือนี่นะ ไปๆมาๆอาจจะหนักกว่าเคสของผู้โดยสาร เพราะผู้โดยสารอยู่กับเราแค่ไฟลท์เดียวเดี๋ยวก็ไป อาจจะไม่ได้เจอกันอีกแล้ว แต่ลูกเรือนี่มีแววได้บินได้ร่วมงานกันอีกแน่นอน เคสของลูกเรือนี่แค่ Language Barrier กับ Social Manners นี่ไม่พอนะ ขอรวมประเด็นยิบย่อยที่กล่าวไปข้างต้นเข้าไปด้วยเลย หลากหลายสายพันธุ์มนุษย์ก็หลากหลายปัญหา "จุดประสงค์" ในการมาเป็นแอร์ก็แตกต่างกันไป หากสายการบินที่น้องจะต้องไปอยู่ ไม่มี rules & regulations หรือ crew responsibilities ที่แน่ชัดในการทำงาน พี่รับรองว่า เละ แน่นอน
ขอไม่ลงลึกถึงปัญหาโลกแตกของแต่ละบุคคลว่าเพราะอะไรถึงได้เกิดมาเป็นแบบนี้ แต่อย่างที่บอก ถ้าเพื่อนร่วมงานของน้องมี "common sense" มากพอ การทำงานจะเป็นไปด้วยความราบรื่น จะเป็นไฟลท์หายเหนื่อยของน้องเลยทีเดียว ไปถามลูกเรือหลายๆคนได้ ระหว่างผู้โดยสารไม่ดี กับลูกเรือไม่ดี เลือกอย่างไหน? ร้อยทั้งล้านตอบว่าขอเลือกผู้โดยสารไม่ดีกันทั้งนั้นแหละ เพราะการทำงานบนไฟลท์ Teamwork เป็นอะไรที่สำคัญมาก ถ้าการทำงานไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ปัญหาเกิดแน่นอน ฉันจะทำอย่างนั้น เธอจะเอาอย่างนี้ แล้วพี่บอกเลย ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิด น้ำผึ้งหยดเดียวทั้งนั้น อย่างที่พี่บอกว่า "จุดประสงค์" ในการมาเป็นแอร์ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น น้องเจอแน่นอน พวกลูกเรือประเภทที่ชอบเอาเปรียบ, ไม่ทำงาน จ้องแต่จะหา "รายได้พิเศษ", ลูกเรือที่มีมากกว่า 2 หน้า และ 2 หัว, พวกเหยียดผิว, และอีกมากมายหลายคดี นี่ยังไม่รวมถึง Mental Challenge ต่อสายการบินของตัวเอง ที่จัดการบริหารได้ไม่ดีพอ ไม่ professional เอาเปรียบลูกเรือ ใช้งานเยี่ยงทาส กดดันลูกเรือ โกงได้เป็นโกง บางสายการบินถึงขนาดขึ้นชื่อเรื่องกฏข้อบังคับที่เคร่งครัดแบบทหารยังอายเลยก็มี อะไรแบบนี้ มีผลต่อ mentality ของน้องแน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสไตล์ของแต่ละคน รับได้รับไม่ได้ แนวเดียวกันก็อยู่กันไป ขัดใจกันก็ลาออกกันไป
น้องบินไปบินมา จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากปีเป็นหลายๆปี เจอแบบนี้เข้าบ่อยๆ ทั้งผู้โดยสาร ทั้งลูกเรือ ทั้งอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง ถามว่าไหวมั๊ย? รับได้มั๊ย? จิตหลุดมั๊ย? เลิกเป็นแอร์เลยมั๊ย? เหล่านี้คือ A War Zone ในความหมายของพี่ที่อยากจะเล่าให้น้องๆฟังผ่านทางตอนที่ 8 นี้ ใครชอบออกรบก็ขอเชิญมาเป็นแอร์เบสแถบตะวันออกกลางนี่ มาลองดูขำๆก็ได้นะ แค่ปีเดียว maximum 2 ปี น้องก็ได้อะไรเยอะแยะมากมายกลับไปแน่นอน แต่ให้เลือกสายการบินให้ดีๆนะ เอาแค่นึ้แหละ แล้วเจอกันตอนหน้านะ กับ แนะแนวข้ามทวีป : so-called flight attendant ตอนที่ 9 It's all about the money.
>>> แนะแนวข้ามทวีป : so-called flight attendant ตอนที่ 9 It's all about the money.<<<
Monkey Talks : รอกันจนคิดว่าพี่จะไม่มาแล้วใช่มั๊ยหล่ะ ฮ่าๆๆๆ พอดีพี่ติดพักร้อน 2 อาทิตย์หน่ะ เลยไปซ่าตามประสาลิงๆมา ไม่ทิ้งงานเขียนหรอกไม่ต้องห่วงงงงงง อ่อ มีข่าวดี(!?)มาบอกด้วย ประมาณสิ้นเดือนมีนาคมนี้ พี่จะเอาคอลั่มใหม่ลง Request โดยอาจารย์เกรียงไกรของน้องๆนี้แหละ เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับใช้อาจารย์และสถาบันการศึกษาที่ทำให้พี่มีวันนี้ได้ รอดูสิ้นเดือนก็แล้วกันนะ ว่าจะเป็นคอลั่มที่เกี่ยวกับอะไร แนวไหน ต้องกราบขอบพระคุณอาจารย์เกรียงไกร ทองชื่นจิต มา ณ ที่นี้ด้วย ที่ได้ให้ไอเดียดีๆกับพี่ในการเขียนครั้งนี้ ขอบคุณค่ะ ~
................................................................
"so-called flight attendant" ตอนที่ 1 How?
"so-called flight attendant" ตอนที่ 2 How come?
"so-called flight attendant" ตอนที่ 4 Hello Middle East
"so-called flight attendant" ตอนที่ 5 Back to School
"so-called flight attendant" ตอนที่ 6 I believe I can fly