Sunday, June 28, 2020

แนะแนวข้ามทวีป : so-called flight attendant ตอนที่ 11 Say WHAT!?

*** Rules&regulations ในการอ่าน "so-called flight attendant" ***

1. เรื่องราวทั้งหมดที่เกิด เป็นประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่อยู่ในอาชีพแอร์โฮสเตสมาเป็นระยะเวลา 13 ปี ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาโจมตีหรือพาดพิงผู้ใดทั้งสิ้น หากแต่เป็นการเขียนเพื่อเป็นวิทยาทานให้รุ่นน้องที่อยากเป็นแอร์โฮสเตส และเพื่อเพื่อนๆผู้รักการอ่านเพื่อความบันเทิงเท่านั้น

2. เนื้อหาและเนื้อเรื่องบางส่วนในบางตอน ไม่สามารถนำไปใช้ได้กับสายการบินอื่นๆในเหตุการณ์เดียวกัน การนำเอาเรื่องราวของผู้เขียนไปเปรียบเทียบ หรือยึดถือเป็นหลักโดยรวมว่าด้วยเรื่องของชีวิตการเป็นแอร์โฮสเตส อาจทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจที่ผิดต่อการเป็นแอร์โฮสเตสในภาพรวมได้

3. กรุณาใช้วิจารณญาณขั้นสูงสุดในการอ่าน เนื่องจากเรื่องราวของผู้เขียนนั้น เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตการทำงานและอยู่อาศัยในประเทศแถบตะวันออกกลางเท่านั้น การจัดการและการบริหารของสายการบินต่างๆในแถบนี้ รวมถึงสายการบินที่เบสในประเทศไทยนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพื่อนร่วมงาน ผู้โดยสาร เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม การเลี้ยงดูในวัยเด็ก จิตสำนึก ความคิด ทำให้ความสามารถในการมองโลก การแก้ปัญหา การแยกแยะผิดชอบชั่วดี มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ผู้อ่านจึงไม่ควรตัดสินชีวิตใคร แต่ควรพึงเข้าใจ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไป ล้วนแล้วแต่เป็น "กรรม" ของแต่ละบุคคลเท่านั้น

..............................................................................................................
 Picture Credit : https://seasokhon.com/2017/12/27/benefits-of-understand-communication-styles/



แนะแนวข้ามทวีป : so-called flight attendant ตอนที่ 11 Say WHAT!? จะพูดถึงการสื่อสาร (Communication) ล้วนๆเลย ไม่ว่าจะทำงานอะไรเราก็ต้องมีการสื่อสารหมด ทั้งการพูดการจา การนำเสนอ ท่าทาง บุคลิกลักษณะ งานแอร์ก็ไม่เว้น แถมอาจจะหนักกว่าอีก เพราะว่าเราต้องเจอกับคนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ที่หนักกว่านั้นคือ เจอทั้งหมดที่ว่ามาภายใน 1 ไฟลท์ที่ทำใน 1 วัน ผู้คนที่จะได้เจอจะมีตั้งแต่ลูกเรือที่ต้องทำงานด้วยกันในไฟลท์นั้นๆ พนักงานภาคพื้นดิน (Ground Staff) พนักงานทำความสะอาดบนเครื่องบิน (Cleaner) ผู้โดยสารอีกเป็นร้อยคนแค่ในไฟลท์นั้น รวมไปถึงอีกหลายบุคคลที่ไม่ได้กล่าวถึงเวลาไปบิน แล้วอาจจะไม่ได้เจอกันอีกก็เป็นได้ ถามว่าคนทั้งหมดนี้สื่อสารกันยังไงให้ไม่ทะเลาะกัน !?

Say WHAT!? ในที่นี้แปลแนวๆได้ว่า "ห๊ะ พูดว่าอะไรนะ" มันอาจจะเป็นความคิดเราที่พูดอยู่ข้างในคนเดียวเวลาเราคุยอยู่กับใครแล้วอาจจะไม่เข้าใจ สะดุด หรือไม่เข้าหูกับสิ่งที่ได้ยินมาก็เป็นได้ แต่คือเราจะจัดการความคิดนั้นยังไง จะเงียบเอาไว้ หรือจะพูดออกไปเลยเพื่อความเคลียร์ ไม่ว่าจะเลือกทางไหนคือมีผลลัพธ์หมด (All actions have consequences.)

ไอเดียต้นเรื่องของการเขียน แนะแนวข้ามทวีป : so-called flight attendant ตอนที่ 11 Say WHAT!? นี้มาจากห้อง Briefing (ซึ่งได้อธิบายไว้แล้วในตอนที่ 10) คือลูกเรือจะต้องมานั่งประชุมกันก่อนไปทำไฟลท์นั่นเอง ในประสบการณ์การบิน 13 ปีของผู้เขียน บอกได้เลยว่ามีหลายครั้งที่หัวหน้าลูกเรือ(บางคน)จะปิดท้ายการประชุมด้วยเรื่อง "communication" เป็นหลัก เค้าจะเน้นมาก ว่า 99.99% ของปัญหาส่วนใหญ่มาจาก "miscommunication" (การสื่อสารที่ผิดพลาด) ทำให้เกิดการ "Misunderstanding" (การเข้าใจผิด) >>> misunderstanding <<<  คือการพูดคุยสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ทำให้ไม่เข้าใจกัน เข้าใจผิดกัน และทำให้เกิดปัญหาจากเล็กไปถึงปัญหาใหญ่ๆ 

หากเราทำงานกับสายการบินในประเทศไทย ที่ลูกเรือส่วนใหญ่เป็นคนไทย การสื่อสารจะอยู่ในระดับค่อนข้างดี เพราะอย่างน้อยก็คนไทย คุยกันรู้เรื่อง คุยกันไม่รู้เรื่องก็ใช้ใจคุยกัน คนไทยด้วยกันยังไงก็ดีกว่า (ไม่นับรวมว่าใครมาจากไหน นิสัยใจคอเป็นอย่างไรนะ) แต่ถ้ามาเบสกับสายการบินของตะวันออกกลาง เจอแน่ๆคือ ลูกเรือชาวต่างชาติที่มาจากทุกมุมโลกเลย ภาษาหลักที่จะต้องใช้สื่อสารกันคือภาษาอังกฤษ ไม่นับรวม Body Language ที่จะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้นนะ

ถามว่าถ้าไม่เก่งภาษาอังกฤษแล้วจะทำยังไง!? ขอบอกว่าไม่ใช่ปัญหานะ มีลูกเรือหลายคนจากหลายชาติที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ พอมาเป็นแอร์แล้วถึงพูดได้พูดเป็นกันเยอะมาก เพราะมันต้องใช้อยู่ตลอด 24/7 ( >>> 24/7 <<<) พูดทุกๆวัน นานๆเข้าก็คือสื่อสารได้ มันเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกวันคือการเรียนรู้อยู่แล้ว แค่ว่าเรียนอะไรเท่านั้นเอง 

ประเด็นคือเจ้าตัว "communication" นี่นะ ถ้ามันกลายพันธุ์เป็น "miscommunication" และ "misunderstanding" บนไฟลท์ ขอเน้นว่าบนไฟลท์ มันสามารถสร้างปัญหาได้ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับ Ph.D (ปริญญาเอก) เลยทีเดียว การแก้ปัญหาของระดับอนุบาลนี่คือไม่เท่าไหร่ เคลียร์กันได้ ไม่สร้างความเสียหายมาก แต่ถ้าขึ้นถึงระดับ Ph. D คือเรื่องใหญ่ และกระทบเป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายได้มากจริง มาดูตัวอย่างกัน

- ผู้โดยสารในชั้นประหยัดท่านหนึ่งเป็นลม ลูกเรือก็ปฐมพยาบาลกันไป การเป็นลมของผู้โดยสารท่านนี้ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับ Life threatening (อันตรายถึงชีวิต) หัวหน้าลูกเรือชั้นประหยัด (Cabin Senior) ไปบอกหัวหน้าลูกเรือให้รับทราบ แต่ไม่รู้คุยกันยังไง หัวหน้าลูกเรือเข้าไปบอกกัปตันว่า "ผู้โดยสารไม่หายใจแล้ว" ข้อมูลแบบนี้สำหรับกัปตันคือเรื่องใหญ่ ผลที่ตามมาคือ กัปตันแจ้งเหตุไปทาง ATC (Air Traffic Control - หอบังคับการบิน) ของประเทศที่กำลังบินผ่านอยู่ตอนนั้น ว่าขอลงจอดด่วน เพราะมี "Medical case on board" (เหตุผู้ป่วยฉุกเฉินบนไฟลท์)  และเมื่อลงจอดฉุกเฉินแล้ว ทีมแพทย์ได้ขึ้นมาตรวจเช็คผู้โดยสารแล้วคือ ผู้โดยสารท่านนั้นไม่ได้เป็นอะไร นั่งอยู่กับที่และปกติดี #ซะงั้น

- เครื่องบินบินอยู่บนฟ้า ผู้โดยสารที่นั่งอยู่ริมหน้าต่าง สังเกตุเห็นควันไฟออกมาจากเครื่องยนต์ทางปีกขวาของเครื่องบิน เลยรีบเรียกลูกเรือให้มาดู หัวหน้าลูกเรือเดินลงไปดูและเห็นว่ามีควันออกจากเครื่องยนต์จริงๆ เลยรีบไปที่ Flight deck (ห้องนักบิน) แล้วบอกกัปตันว่า "มีควันไฟออกมาจากเครื่องยนต์ทางปีกซ้ายของเครื่องบิน" กัปตันถามย้ำว่าปีกซ้ายนะ แล้วก็กดดับเครื่องยนต์ปีกซ้ายไป พร้อมกับกดระบบดับไฟฉุกเฉินของเครื่องยนต์ ไฟจะได้ดับ แต่เครื่องยนต์ปีกขวาต่างหากที่ไหม้ หัวหน้าลูกเรือบอกปีกซ้าย เพราะว่าเค้าเดินจากหัวเครื่องลงไปดู(หัวหน้าลูกเรือส่วนใหญ่จะประจำอยู่ที่หัวเครื่อง ใกล้กับห้องนักบิน) ไม่ได้เดินจากท้ายเครื่องขึ้นไปดู(ถ้าเดินจากท้ายเครื่องขึ้นไป ปีกขวาจะอยู่ทางขวามือของเราพอดี) ปีกทางขวาที่ว่าเลยกลายเป็นอยู่ทางซ้ายมือของเค้า และเค้าก็จำมันแบบนั้นไปบอกกับนักบิน #จบยังไงขอไม่พูดถึง 

เอาแค่ 2 ตัวอย่างนี้คือก็เห็นชัดแล้วว่า "miscommunication" กับ "misunderstanding" สร้างความเสียหายได้มากแค่ไหน จะเสียหายแค่ไหน แต่ถ้ามีชีวิตอยู่ต่อเพื่อแก้ไข มันก็คงจะดีไม่น้อย

ส่วนปัญหาระดับอนุบาลที่พอแก้ไขกันได้ ขอยกมา 1 ตัวอย่าง ดังนี้

- ผู้โดยสารสั่ง Special Meal (อาหารเมนูพิเศษต่างๆที่ผู้โดยสารทำการจองไว้ล่วงหน้าก่อนขึ้นบิน เช่น ผลไม้, อาหารของคนเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น) ท่านหนึ่งนั่งอยู่ที่ 27A แต่ลูกเรือเดินเอาไปเสริฟให้ที่ 27K คือถูกแถว แต่มันคนละฝั่งกันเลย เหตุเพราะลูกเรือที่ส่งถาดให้ลูกเรืออีกคนเอาไปเสริฟนั้นดันชี้ไปที่ฝั่ง 27K แล้วบอกว่าถาดนี้ของ 27A นะ  #ขอบใจ

การพูดคุยกันเพื่อการเข้าใจที่ตรงกัน การกล้าพูดในสิ่งที่คิด (เพราะบางทีคือเรารู้และว่ามันไม่ใช่นะ แค่เราพูดหรือไม่พูดออกไป) ทำให้เกิดการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง คือ "Effective Communication" ไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่ทุกคนเข้าใจกัน ทำงานร่วมกันได้ไม่เกิดปัญหา และถึงแม้จะเกิดปัญหาขึ้นมา แต่การคุยกันดีๆเพื่อหาทางแก้ไข หาจุดตรงกลาง ยอมรับฟังกัน เรื่องก็จบได้แบบสวยงาม นี่คือ 1 ในเรื่องหลักๆที่พวกน้องจะต้องเจอเมื่อขึ้นมาบินแล้ว เพราะปัญหามันมีทุกไฟลท์จริงๆ ไม่กับลูกเรือด้วยกันเอง ก็กับผู้โดยสาร และกับคนทั่วไปที่จะต้องเจอเวลาเราไปบิน (Ground Staff, Cleaner) พี่ก็ขอให้ทุกคนปรับตัวได้ ใช้เวลาหน่อยไม่เป็นไร ขอให้เปิดรับและหาจุดตรงกลางให้เจอ ค่อยๆเรียนรู้ไป แล้วจะดีเอง 

มาเจอกันใหม่กับ แนะแนวข้ามทวีป : so-called flight attendant ตอนที่ 12 Your job or My job

...................................................................................................................

>>> แนะแนวข้ามทวีป : Introduction <<<
>>> แนะแนวข้ามทวีป : High School Love On <<<
>>> แนะแนวข้ามทวีป : Better Planet VS. Better Kids <<<
>>> แนะแนวข้ามทวีป : What's next? <<<


"so-called flight attendant" ตอนที่ 1 How? 
"so-called flight attendant" ตอนที่ 2 How come?

"so-called flight attendant" ตอนที่ 4 Hello Middle East 

"so-called flight attendant" ตอนที่ 5 Back to School 

"so-called flight attendant" ตอนที่ 6 I believe I can fly 

"so-called flight attendant"  ตอนที่ 9 It's all about the money.
https://skulligram.blogspot.com/2015/04/so-called-flight-attendant-9-its-all.html

แนะแนวข้ามทวีป : so-called flight attendant ตอนที่ 10 What time is it?
https://skulligram.blogspot.com/2020/06/so-called-flight-attendant-10-what-time.html

No comments: